ลีน คืออะไร
ลีน(Lean) หรือ ลีนนอกคือประเภทของเครื่องดื่มที่ผสมกับยาแก้ไอและยาควบคุมชนิดต่าง ๆ โดยในต่างประเทศ ลีนนิยมใช้ดื่มเพื่อปาร์ตี้ พักผ่อนสังสรรค์ในหมู่วัยรุ่น ซึ่งเครื่องดื่มลีนมักจะถูกผสมกับน้ำอัดลม(สไปร์ท) ลูกกวาด และเยลลี่รสผลไม้อื่น ๆ เพื่อช่วยเพิ่มสีสัน กลิ่นและรสชาติให้ดื่มง่ายยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน การดื่มลีนลีนหรือจำหน่ายลีนนั้นผิดกฎหมาย เนื่องจากเครื่องดื่มลีนมีส่วนผสมของโคเดอีน กฎหมายห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 300,000 บาท ตามบทกำหนดโทษยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ประมวลกฎหมายยาเสพติด
ความนิยมของลีนเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในไทย ทำให้หมู่วัยรุ่นนิยมเสพติดเครื่องดีมลีนสีม่วง ทั้งได้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ MV เพลงของแรปเปอร์ชื่อดังทั้งไทยและต่างชาติที่นิยมดื่มลีนในการแสดง หรือในภาพพักผ่อนของตนตามสมัยนิยม
ส่วนประกอบของลีน(สูตรนอก)
สำหรับลีนที่ได้รับความนิยมในไทย คือการใช้สูตรลีนนอก กล่าวคือการใช้น้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ผสมกับน้ำยาแก้ไอ ยาแก้ปวด และยาควบคุมชนิดต่างๆ ดังนี้
1. โคเดอีน
โคเดอีนเป็นยาสังเคราะห์จากสารเสพติดอย่างฝิ่น(กลุ่มเดียวกับสารเสพติดประเภทเฮโรอีนและมอร์ฟีน) โคเดอีนมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง(กดประสาท) ทำให้เกิดอาการเมาคล้ายยาฝิ่น หากใช้เพื่อทางการแพทย์ในปริมาณที่เหมาะสมโคเดอีนจะช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ถ้าใช้เกินขนาดจะทำให้ระบบทางเดินหายใจลำบากขึ้น เกิดอาการหมดสติ หรือเสียชีวิตได้
2. โพรเมทาซีน(Promethazine)
โพรเมทาซีน เป็นยากลุ่มแก้แพ้(Antihistamine) ช่วยรักษาอาการแพ้และคันต่างๆ บรรเทาการไอ โดยทั่วไปแล้วใช้เพื่อแก้อาการเมา(อาเจียน) ออกฤทธิ์กดประสาททำให้ผู้รับสารเกิดอาการง่วงนอน เมื่อใช้ร่วมกับโคเดอีนจะเกิดปฏิกิริยาเสริมฤทธิ์ซึ่งกัน ทั้งในแง่ของการกดประสาท ลดอาการแพ้ นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันที่ส่งผลได้ร้ายแรงที่สุดคือการเสียชีวิตในท้ายที่สุด จึงถูกจัดเป็นยาอันตราย ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ซึ่งการจำหน่ายต้องได้รับการอนุญาติจากเภสัชกรเสมอ
3. ไฮโดรโคโดน
ไฮโดรโคโดน เป็นสารเสพติดอีกหนึ่งตัวที่พบจากดอกฝิ่น เมื่อเป็นส่วนผสมของลีนจะมีกลไกการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงคล้ายกับโคเดอีน โดยทั่วไปใช้เพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง อาการคัด อาการมีน้ำมูกและเสมหะ เป็นต้น เมื่อนำมาผสมร่วมกับโปรเมทาซีนก็ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น คอแห้ง ปากแห้ง ใจสั่น และเมื่อใช้ไฮโดนโคโดนเป็นระยะเวลานานสามารถเป็นตรายต่อร่างกายในโรคต้อหินขั้นรุนแรงได้
4. ทรามาดอล
ทรามาดอล เป็นยาแก้ปวดรุนแรงชนิดหนึ่งในกลุ่มโอปิออยด์ ออกฤทธิ์คล้ายฝิ่น(สารสังเคราะห์) แต่ระยะเวลาออกฤทธิ์นาน 9 ชั่วโมง โดยทั่วไปจึงนิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง ในหมู่วัยรุ่นนิยมใช้ในลักษณะยาเม็ดเพื่อผสมกับลีน เนื่องจากความสะดวกเมื่อพกพา ถ้าใช้เกินขนาดอาจทำให้หายใจลำบากหรือหมดสติได้
5. เด็กซ์โตร
เด็กซ์โตร เป็นยาลดอาการไอชนิดไม่ใช่ฝิ่น ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการไอที่โซนกลางของสมอง(ส่วนเมดุลลา) เมื่อใช้ในขนาดที่เหมาะสม(15-30 มก.) จะมีความปลอดภัยและผลข้างเคียงน้อย หากแต่ถ้าใช้มากเกินไป(เกิน 360 มก.)หรือใช้ในปริมาณผสมในลีนจะมีผลทำให้เกิดภาวะประสาทหลอน คล้ายได้รับสารเมทาเฟตามีน(ยาบ้า)บางชนิด เมื่อใช้สารนี้เกินขนาด อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ความดันสูง สั่นกระตุก หมดสติ และเสียชีวิตได้
6. อัลพราโซแลม หรือ ซาแนกซ์ (Alprazolam/Xanax)
อัลพราโซแลม หรือ ซาแนกซ์เป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีน(กลุ่มยาที่ทำงานในระบบประสาทส่วนกลาง) ใช้รักษาภาวะวิตกกังวลจิต โรคย้ำคิดย้ำทำ และป้องกันอาการชักบางชนิด โดยออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง จึงทำให้ผู้ที่ใช้ผสมกับลีนรู้สึกสงบและผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการถอนยาที่รุนแรงทันทีถ้าหยุดยา ดังนั้น ซาแนกซ์เมื่อใช้ผสมในลีนจึงเป็นสารที่ทำให้ผู้ดื่มส่วนใหญ่มักเสพติดการใช้ลีน ผลข้างเคียงอาจเกิดอาการคลื่นไส้ นอนไม่หลับ สั่น ซึมเศร้า หรือชักได้ จึงเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาควบคุมพิเศษ ประเภทที่ 2 ตามพ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
นอกจากสาร 6 ตัวที่ผสมในลีน(สูตรนอก) ผู้ผสมลีนส่วนมากมักผสมร่วมกับน้ำอัดลมหรือน้ำเชื่อมรสหวานเพื่อเพิ่มรสชาติ พร้อมทั้งใส่ลูกอมหรือขนมเยลลี่เพื่อเพิ่มความหวาน ทำให้ลีนมีสีสันเป็นสีม่วงดูน่ารับประทานมากขึ้น แต่ความจริงแล้วนั่นคือการอำพรางพิษภัยและอันตรายจากสารเสพติดที่แท้จริงที่ละลายอยู่
ผลค้างเคียงเมื่อดื่มลีนเป็นประจำ
ผลกระทบต่อร่างกาย
ลีน(LEAN) ที่มักนิยมผสมกับ โคเดอีน โพรเมทาซีน ไฮโดรโคโดน ทรามาดอล และอื่น ๆ ในรูปแบบน้ำเชื่อมใสสีม่วง มีรสหวาน เพื่อตอบสนองให้ผู้ดื่มเกิดอาการเมา เคลิ้ม ง่วง มึน เหล่านี้ จะเห็นได้ว่ามีหลายสูตร ไม่ว่าจะเป็นสูตรไทยหรือสูตรนอก โดยความรุนแรงของลีนจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของยาชนิดต่างๆที่ผสมรวมอยู่ โดยลีนส่วนใหญ่มักถูกผสมยาแก้ปวดร่วมกับยาแก้ไอ เพื่อให้เกิดอาการที่ร่างกายได้รับยาเกินขนาด เริ่มต้นที่การสูญเสียการทรงตัวเป็นช่วง ๆ เนื่องจากการประสานงานของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ผิดปกติ และหากกินลีนติดต่อกันนาน ระยะต่อไปจะเข้าสู่ภาวะชัก และอาจเกิดภาวะสมองหยุดทำงานเนื่องจากขาดออกซิเจน นำไปสู่การเสียชีวิตในเวลาต่อมา อย่างที่เคยมีข่าวในหน้า นสพ ในปัจจุบัน
ดังนั้น การกินลีน (LEAN) หรือการนำน้ำอัดลมมาผสมกับยาแก้ปวด ยาแก้ไอ ชนิดรุนแรง ซึ่งล้วนเป็นยาที่มีฤทธิ์กดประสาทและทำให้ง่วงซึม มีฤทธิ์ไม่ต่างจากสารเสพติด และก็มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ด้วยเช่นกัน ยามีคุณอนันต์หากใช้ให้เกิดประโยชน์ ยาแก้ปวดหรือยาแก้ไอมีสรรพคุณบรรเทาอาการเจ็บป่วยเท่านั้น อีกทั้งควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด อย่าได้ริลองนำมาผสมกับเครื่องดื่มหรือใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ให้เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตจะดีกว่า
ผลกระทบด้านอารมณ์
ภาวะที่ลีนออกฤทธิ์กดประสาทสูงมากและต่อเนื่องยังส่งผลกระทบด้านจิตใจและพฤติกรรมอย่างรุนแรง โดยผู้ดื่มลีนมักจะมีอารมณ์แปรปรวนอย่างคาดไม่ถึง มีช่วงสุขสบายใจอย่างผิดปกติสลับกับภาวะซึมเศร้า หงุดหงิด วิตกกังวล ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมรุนแรงต่อผู้อื่นได้ นอกจากนั้น การดื่มลีนยังมีผลต่อการทำงานของสมองในด้านความจำ สมาธิ และสติปัญญา ทำให้การตัดสินใจบกพร่องและมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย รวมถึงเกิดอาการด้านชาทางอารมณ์ทำให้ไม่สามารถรู้สึกสุขโดยไม่ต้องดื่มลีน ผู้เสพติดลีนมักมีนิสัยชอบปลีกตัว ถอนตัวจากสังคม แยกตัวจากเพื่อนและครอบครัวตามมา
วิธีสังเกตผู้เสพติดลีน
เมื่อผู้คนที่คุณรู้จัก เสพติดการดื่มลีนแล้ว จะปรากฏอาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น การทำงานหรือการเรียนแย่ลง ขาดงานบ่อยขึ้น มีอาการเหงื่อออกผิดปกติ นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย คลื่นไส้ สั่นที่แขนขา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รวมถึงปัญหาการเงินและปัญหากฎหมายจากการต้องหาซื้อยาเสพติดที่ประกอบในเครื่องดื่มลีนในช่องทางผิดกฎหมายต่าง ๆ
โดยสรุปแล้ว การดื่มลีนเป็นประจำถือเป็นการสร้างปัญหาที่รุนแรงอย่างยิ่งต่อทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้ในที่สุด การดื่มลีน ยังถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและการไม่เคารพตนเองที่หันไปพึ่งพาในสิ่งผิดในที่สุด